หนึ่งในปัจจัยที่มนุษย์จะขาดไปไม่ได้เลย สิ่งนั้นก็คือ ‘น้ำ’ น้ำคือมารดาของสรรพสิ่งอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์นานาชนิด รวมทั้งธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า ล้วนต้องการน้ำ เพื่อทำให้ชีวิตยังสามารถเจริญเติบโต และอยู่รอดต่อไปได้ แต่สิ่งที่น่าเศร้าที่สุด ก็คือต้องยอมรับว่ามนุษย์ เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ที่ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ เกิดการเสื่อมโทรมลง ไม่ว่าจะเป็นทะเล แม่น้ำลำคลอง ห้วยหนอง คลองบึงต่างๆ เพราะฉะนั้นก่อนที่สภาพแวดล้อมทางน้ำจะแย่ลงไปอีก ทุกวันนี้เราทุกคนจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์น้ำในทางที่ถูกต้องและใช้น้ำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

ปัญหาน้ำที่เราต้องใส่ใจ

สำหรับคนเมือง ปัญหาเรื่องการใช้น้ำนี้ ก็คงไม่ใช่ปัญหาที่หนักหนาสาหัสเสียเท่าไหร่ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณผู้อ่านต้องรู้ก็คือประชาชนที่อยู่ตามต่างจังหวัด หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล เรื่องน้ำจัดเป็นปัญหาใหญ่และมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่สูง การหาน้ำมาใช้นั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก นอกจากนำมาใช้ในการทำเกษตรกรรมแล้ว ก็ยังนำมาใช้ในชุมชนครัวเรือนต่างๆ อีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงเกิดแนวคิดในการบริหารน้ำในชุมชน ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นมา ด้วยการขอความร่วมมือจากชุมชน เริ่มจากศึกษาว่า ปัญหาเกิดจากอะไร หลังจากนั้นก็มาปรึกษาหารือ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้แก่ชุมชน ด้วยการหาทรัพยากรที่มีอยู่มาปรับใช้แก้ไข รวมทั้งพยายามสืบค้นภูมิปัญญาชาวบ้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานขอความร่วมมือจากองค์กรภายนอก เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาร่วมด้วย ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับแนวทาง 4 ประการที่ชุมชนสามารถช่วยกันปรับตัวและร่วมกันทำ ได้แก่…

การเก็บน้ำฝน

การเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้นี้ จัดเป็นภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่โบราณ ด้วยการใช้อ่าง, โอ่ง, ตุ่ม ในการเก็บน้ำฝน ทำให้มีน้ำจำนวนมากใช้ในชุมชน โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเสาะหามา เพราะเป็นน้ำที่ร่วงหล่นมาจากท้องฟ้า ไม่จำเป็นต้องใช้แรงในการขนย้าย เพียงแค่รอรับเท่านั้นเอง ซึ่งสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาทางเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเกิดจะนำมาใช้ในเรื่องของอุปโภคการอุปโภคบริโภคก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะต้องมีการนำน้ำไปบำบัดให้ถูกสุขอนามัยก่อน

4-ways-to-conserve-water-from-the-community-to-your-household-site-news

ปลูกพืชใช้น้ำน้อย

หลังจากที่ช่วงฤดูการทำนาผ่านไป เพื่อไม่ให้เป็นการปล่อยเวลาและปล่อยที่ดินให้เสียเปล่า แนะนำให้ชาวบ้านในชุมชนปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว, มะละกอ, ฟักทอง, แก้วมังกร, มะพร้าว มันสําปะหลัง เป็นต้น ซึ่งพืชเหล่านี้ เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการสลับกับการปลูกข้าวบ้าง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้เสร็จเศษจากพืชตระกูลถั่วยังเป็นการช่วยเพิ่มประโยชน์ให้แก่ดิน ซึ่งเป็นอินทรียวัตถุที่มาจากธรรมชาติ ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้แข็งแรง

เรียนรู้การบริหารแหล่งน้ำในชุมชน

เช่น การร่วมแรงร่วมใจกัน ในการขุดลอกคลองที่มีอยู่แล้ว ให้มีการขยายตัวขึ้น เพื่อรองรับการเก็บน้ำให้ได้มากขึ้น หรือสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแก้มลิง สร้างบ่อเก็บน้ำชุมชน เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน เช่น ในช่วงน้ำแล้ง เป็นต้น

ปลูกทัศนคติในการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าแก่ผู้คนในชุมชน

การที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ใดๆ ก็ตาม จะต้องมีการปลูกฝังให้ผู้คนเกิดความเข้าใจ และตระหนักในเรื่องเหล่านั้น เสียก่อน โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังต้องเริ่มจาก ในครอบครัว โรงเรียน ไปจนถึงระดับชุมชน ซึ่งผู้ใหญ่เป็นกำลังหลักสำคัญ ที่จะทำให้เด็กเห็นแล้วเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมในทางที่ดี

ปัญหาขนาดใหญ่นี้ ไม่ได้อาจแก้ไขได้ด้วยตัวคนเดียว หรือเพียงครอบครัว สองครอบครัวเท่านั้น แต่ทุกคนในชุมชนนั้นจะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ในการสร้างความยั่งยืนสืบต่อไป